สติปัฏฐาน 4 คืออะไร
สติปัฏฐาน 4 คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า ในการมีสติในการภาวนาเพื่อให้รู้แจ้ง เข้าใจความจริงของธรรมชาติ ไม่ให้ถูกกิเลสครอบงำ โดยการใช้จิตพิจารณาตามความเป็นจริงใน 4 ฐาน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ใช้จิตภาวนาพิจารณากายในกาย คือการพิจารณาถึงรูป มีสติอยู่กับกาย ซึ่งสามารถพิจารณาได้ 6 รูปแบบ
1. อานาปานสติ พิจารณา ลมหายใจ เข้า ออก ซึ่งการพิจารณานั้นสามารถเพิ่มเติมไปอีกได้เป็น 16 ขั้นตอน
2. อิริยาปถบรรพ พิจารณาอิริยาบท ยืน นั่ง นอน
3. สัมปชัญญบรรพ พิจารณาความรู้สึกตัวในการจะทำอะไร กิน เดิน นั่ง มอง พูด
4. ปฏิกูลมนสิการบรรพ พิจารณาร่างกายว่าเป็นสิ่งปฏิกูล
5. ธาตุมนสิการบรรพ พิจารณาร่างกายว่าเป็นธาตุ 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม
6. นวสีวถิกาบรรพ พิจารณาความเป็นซากศพ เมื่อร่างกายเราตายก็จะเน่าเหม็น
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ใช้จิตภาวนาพิจารณาเวทนาในเวทนา คือการพิจารณาถึงความรู้สึกว่าในปัจจุบันเรารู้สึกอย่างไร มีเหตุอะไรที่ทำให้รู้สึก
- รู้สึกสุข โดยมีอามิส (กิเลส,กามคุณ)
- รู้สึกสุข โดยไม่มีอามิส (ฌาน)
- รู้สึกทุกข์ โดยมีอามิส (กิเลส,กามคุณ)
- รู้สึกทุกข์ โดยไม่มีอามิส (ความหดหู่ ความง่วงเหงา ความลังเลสงสัย)
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ใช้จิตภาวนาพิจารณาจิตในจิต คือการพิจารณาว่าจิตมีสวะอย่างไร มีราคะ (กามฉันทะ) โทสะ (พยาบาท) โมหะ (หลง) ฟุ้งซ่าน เศร้าหมอง มีสมาธิ หรือไม่
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ใช้จิตพิจารณาธรรมะต่างๆที่เกิดขึ้นภายในใจ ซึ่งสามารถใช้พิจารณาได้หลายอย่าง ได้แก่
- นีวรณบรรพ นิวรณ์ 5 ไม่ให้เกิดขึ้นภายในใจ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ (ง่วงเหงา) อุทธัจจกุกกุจจะ (ฟุ้งซ่าน) และวิจิกิจฉา (ลังเลสงสัย)
- ขันธบรรพ ขันธ์ 5 ไม่ให้จิตยึดติดใน รูป นาม
- อายตนบรรพ อายตนะ 6 ให้เข้าใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความรู้สึก
- โพชฌงคบรรพ โพชฌงค์ 7 สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์
- สัจจบรรพ อริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
- มรรค 8 สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
โดยการพิจารณาทั้งหมดนั้น ไม่ว่าจะเป็น กาย เวทนา จิต ธรรม ล้วนเกิดขึ้นชั่วคราว ทุกอย่างมีความเสื่อมไป ไม่มีอะไรถาวร ไม่มีอะไรที่ควรยึดถือเอา เพียงสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าระลึกถึง ท้ายสุดแล้วจิตจะคลายไม่ยึดถือ และละซึ่งตัณหาและทิฐิ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรในโลก จะเข้าสู่ความสุขที่เกิดจากความสงบอย่างแท้จริง