สรุปความรู้เกี่ยวกับธรรมะง่ายๆ
ความโชคดีของมนุษย์
การเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก ยิ่งมาเธอพระพุทธศาสนานั้นยิ่งยากกว่า เราแสนโชคดีนักที่ได้เกิดมาเจอพระพุทธศาสนา แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้สนใจหรือศึกษา เสียโอกาสที่จะได้สัมผัสความสุขที่ยอดเยี่ยมไปอย่างน่าเสียดาย การเกิดเป็นมนุษย์ได้ประสบกับทุกข์และสุขของจริง การเข้าใจในธรรมะก็เปรียบเสมือนคู่มือนำทางไปยังขุมทรัพย์ที่ไม่มีอะไรเทียบได้
มนุษย์เกิดมาทำไม
จริงๆแล้วต้องถามว่าเราเกิดมาเพราะอะไร สิ่งมีชีวิตเกิดมาเพราะมีความไม่รู้เป็นเหตุ มีกรรมเป็นต้นทุน เราเกิดมาเพื่อสร้างกรรม และส่งต่อผลของกรรมต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่มีสิ้นสุข แต่หากจะถามว่าเกิดมาทำไม คงตอบได้ว่าเกิดมาเพื่อทำให้ “จิตบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส เพื่อจะได้พบความสุขที่แท้จริง”
แต่หากคิดว่าเกิดมาเพื่อหาความสุข ก็ไม่ผิด แต่ก็ต้องดูว่าความสุขนั้นเป็นความสุขแบบไหน เกิดจากการกระทำที่ผิดศีลหรือไม่ และแน่นอนว่าหากเป็นการกระทำที่ผิดศีล จิตจะต้องรับความทุกข์ในอีกทางหนึ่งอย่างแน่นอน แต่หากเป็นความสุขที่เกิดจากกุศลนั้นก็เป็นสุขที่ประเสริฐ และเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
พระพุทธเจ้าสอนอะไร
พระพุทธเจ้าทรงสอน “วิธีแก้ทุกข์” อย่างมีเหตุมีผล ด้วยการเข้าใจ “อริยสัจ 4” อริยะ แปลว่า ประเสริฐ สัจ แปลว่า ความจริง อริยสัจ 4 ก็คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) นิโรธ (การดับไปแห่งทุกข์) มรรค (หนทางดับทุกข์)
เป้าหมายของศาสนาพุทธ
เป้าหมายของศาสนาพุทธ คือ “การพ้นทุกข์” โดยการทำให้จิตหมดสิ้นกิเลส ด้วยวิธีการปฏิบัติตามมรรค 8 (เส้นทางการดับทุกข์)
ทุกข์ คือ อะไร
ทุกข์ คือ สภาวะที่ทนอยู่ได้ยาก ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สรุปคือการยึดมั่นในขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ทุกข์ มีอะไรบ้าง
- ทุกข์ประจำสังขาร เกิด แก่ ตาย ทุกคนต้องเจอ
- ทุกข์จร ความแห้งใจ (ความพิบัติ) ความคร่ำครวญ (คิดถึง) ความทุกข์กาย(เจ็บ) ความคับแค้น ความเสียใจ เจอกับสิ่งที่ไม่รัก พลัดพรากสิ่งที่รัก ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ
- ทุกข์เนืองนิจ หนาว ร้อน หิว กระหาย อุจาระ ปัสสาวะ
ทุกข์ เกิดจากอะไร
ทุกข์ เกิดจาก การยึดมั่นสิ่งต่างๆว่าเป็นตัวเราของเรา ซึ่งสิ่งต่างๆทุกอย่างรอบตัวเรานั้นมีการแปรเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา โดยมีเวลาเป็นสิ่งที่กำหนด ซึ่งแม้กระทั่งชีวิตของเราเองสุดท้ายก็ต้องจากสิ่งต่างๆไปเช่นเดียวกัน
วิธีการแก้ทุกข์
การแก้ทุกข์ ต้องแก้ที่ต้นเหตุ หากจะมองให้ลึกลงไปถึงต้นเหตุของทุกข์นั้นก็คือความไม่รู้ หรืออวิชชานั่นเอง แล้วจะทำอย่างไรให้เข้าใจธรรมชาติตามความเป็นจริง พระพุทธเจ้าได้อธิบายโดยละเอียด ทั้งวิธีการ และเหตุผลของสิ่งที่เราควรกระทำ คือการเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ (ขันธ์ 5) นั้นไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
ขันธ์ 5
- รูป ธาตุต่างๆ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มาประกอบกันเป็นสิ่งต่างๆ
- เวทนา ความรู้สึก สุข ทุกข์ เฉยๆ
- สัญญา ความจำได้ รูป นาม ว่าสิ่งต่างๆคืออะไร
- สังขาร ความคิดปรุงแต่ง สวย ไม่สวย กุศล อกุศล
- วิญญาณ จิตที่เป็นผู้รับรู้
ตัณหา 3 ประการ
- กามตัณหา อยากได้สิ่งของต่างๆ บ้าน รถ เงิน ทอง ผู้หญิง
- ภวตัณหา อยากเป็นอยู่ในฐานะที่พอใจ ตำแหน่งหน้าที่ ความสุข
- วิภวตัณหา อยากพ้นจากฐานะที่ไม่พอใจ ความยากจน ความทรมาน
กิเลส 3 ระดับ
- กิเลสหยาบ การกระทำทางกาย ทำบาป ผิดศีล
- กิเลสระดับกลาง ความรุ่มร้อนใจ ความอยากในตัณหา
- กิเลสละเอียด กิเลสที่รอปะทุเมื่อมีสิ่งกระทบ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ความสุข คืออะไร มีอะไรบ้าง
สภาวะที่สบาย ไม่ต้องดิ้นรน ไม่รู้สึกเดือดร้อน ไม่อยากให้แปรเปลี่ยนไป
- สามิสสุข กามสุข สิ่งของเครื่องใช้ ลาภ ยศ สรรเสริฐ (ต้องพึ่งปัจจัยภายนอก)
- นิรามิสสุข ความสบายใจ ความสงบ ความไม่มีศัตรู ความไม่วิตกกังวล ความอิ่มใจ (ไม่พึ่งปัจจัยภายนอก)
ข้อเสียความสุขจากการพึ่งวัตถุภายนอก
การมีความสุขแบบ สามิสสุข นั้น จะต้องพึ่งปัจจัยภายนอกเนื่องจากเป็นสิ่งที่เราต้องขวนขวายหามาจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็น เงิน คู่ครอง ตำแหน่ง สิ่งของเครื่องใช้ เป็นสิ่งที่ต้องแลกมาด้วยการกระทำต่างๆ ซึ่งหากเรากระทำอกุศลเพื่อแลกกับสิ่งต่างๆนั้น จะเกิดผลกรรมที่เป็นกรรมไม่ดีซึ่งจะส่งผลร้ายต่อเราทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่วนความสุขแบบนิรามิสสุขนั้น เกิดจากการทำสมาธิ กำหนดรู้สติ เข้าใจในความเป็นไปของธรรมชาติ เป็นกรรมดีซึ่งจะส่งผลดีทั้งในปัจจุบันและอนาคต เป็นสิ่งประเสริฐไม่มีผลร้าย
วิธีมีความสุขแบบไม่พึ่งปัจจัยภายนอก (นิรามิสสุข)
- นั่งสมาธิ การทำจิตใจให้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ลมหายใจ
- การมีสติ สัมปชัญญะ รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ จะแก้ปัญหาอย่างไร สิ่งที่ทำเป็นกุศลหรือไม่
วิธีการนั่งสมาธิ พิจารณาสติปัฎฐาน
- พิจารณากาย ให้สติอยู่กับกาย ได้แก่ 1.1 พิจารณาลมหายใจ สั้นยาว 1.2 พิจารณาร่างกาย ยืน เดิน นั่งนอน 1.3 พิจารณาการขยับของร่างกาย 1.4 พิจารณาว่าร่างกายเป็นของไม่สะอาด 1.5 พิจารณาว่าร่างกายเป็นที่ประกอบของธาตุ4 1.6 พิจารณาซากศพที่ถูกทิ้งไว้
- พิจารณาเวทนา ให้สติอยู่กับความรู้สึก ได้แก่ ความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ ว่าเกิดขึ้นจากอะไร หายไปอย่างไร เกิดขึ้นใหม่อย่างไร
- พิจารณาจิต ให้สติอยู่กับจิต ได้แก่ รู้ว่าจิตมีราคะ โทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ง่วงเหงา ลังเลสงสัย เปลี่ยนไปมา ดับเกิด ไม่แน่นอน
- พิจารณาธรรม ให้สติอยู่กับธรรม ได้แก่ นิวรณ์ 5 , อุปาทานขันธ์ 5 , อายตนะ 6 , โภชฌงค์ 7 , อริยสัจ 4 , มรรค 8
อานิสงค์ การพิจารณาสติปัฎฐาน
- จิตผ่อนคลาย หายเครียด
- ไม่ฟุ้งซ่านกับสิ่งเร้ารอบตัว
- มีสมาธิกับการทำงานได้ดีขึ้น
- พัฒนาตัวเอง การกระทำ คำพูด ความคิด
- มีสติอยู่กับตัว แก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง
- เกิดความสุขใจ อิ่มใจ
- สุขภาพกายดีตามไปด้วย
- จิตบรรลุ คลายกำหนัด หมดกิเลส