อริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐของโลก
อริยสัจ 4 นั้นประกอบด้วยความจริงอันประเสริฐของโลก 4 ประการ ได้แก่
1. ทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
2. ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบ ด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
3. ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือด้วยมรรค คือ วิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน
4. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือ ปัญญาเห็นชอบ ความคิดออกจากทุกข์ วาจาชอบ ปฏิบัติชอบ เลี้ยงชีพชอบ ความเพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ
สิ่งที่เราต้องปฏิบัติให้ออกจากทุกข์
- ทุกข์ 1.1 รู้จักทุกข์ว่าขันธ์ 5 เป็นทุกข์ 1.2 กำหนดรู้ 1.3 รู้แล้ว
- สมุทัย 2.1 รู้จักสมุทัย ตัณหา ความอยาก 2.2 กำหนดละ 2.3 ละแล้ว
- นิโรธ 3.1 รู้จักนิโรธการดับของตัณหา 3.2 ทำให้แจ้ง 3.3 แจ้งแล้ว
- มรรค 4.1 รู้จักทางปฏิบัติออกจากทุกข์ 4.2 ทำให้เจริญ 4.3 เจริญแล้ว
รู้จักอริยสัจ 4 ดีอย่างไร
เป้าหมายของมนุษย์ และสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมาก็คือ “มีชีวิตอย่างมีความสุข” ซึ่งความสุขของแต่ละคนนั้นก็แตกต่างกันไป บางคนชอบรถ นาฬิกา บ้าน อำนาจ ยศ เงินทอง ความรื่นเริง แต่ความทุกข์ของทุกคนนั้นเหมือนกัน นั่นคือ การแก่ การเจ็บ การตาย การไม่ได้สิ่งที่ต้องการ การพบเจอกับสิ่งที่ไม่ชอบ และการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ของมนุษย์ทุกคน
อริยสัจ 4 ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เป็นธรรมดาของโลก กฎธรรมชาติที่ไม่มีความแน่นอนและแปรเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา หากเราเข้าใจ อริยสัจ 4 แล้วจะทำให้เรามีความทุกข์น้อยลง และสามารถมีความสุขที่แท้จริงได้
สิ่งที่สำคัญในชีวิต
สิ่งสำคัญในชีวิตจริงๆก็สภาวะปัจจุบัน อดีตไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ อนาคตเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ซึ่งจะเกิดขึ้นจากสิ่งที่เราปฏิบัติในปัจจุบัน หากเราทำอะไรไม่ว่าเป็นสิ่งดีหรือไม่ดี สุดท้ายแล้วเราจะต้องรับผลของสิ่งที่เราทำทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการปฏิบัติในปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของทุกๆคน
กรรม = ผลของกรรม
กรรมมี 2 แบบ คือ 1.กุศลกรรม กรรมดี 2.อกุศลกรรม กรรมชั่ว เกิดจากเจตนาของจิตที่เกิดจากกิเลส ซึ่งมีราคะ (โลภ) โทสะ (โกรธ) โมหะ (หลง) หากเรามีสติอยู่กับปัจจุบันและรู้ว่าหากเราทำกุศลก็จะได้รับผลดี หากทำอกุศลก็จะได้รับผลร้าย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กุศลกรรม 10
กุศลกรรมบถ กรรมดี 10 อย่าง
1. ปาณาติปาตา เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป]
๒. อทินนาทานา เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้]
๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการประพฤติผิดในกาม]
๔. มุสาวาทา เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดเท็จ]
๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดส่อเสียด]
๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดคำหยาบ]
๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดเพ้อเจ้อ]
๘. อนภิชฌา [ความไม่โลภอยากได้ของเขา]
๙. อัพยาบาท [ความไม่ปองร้ายเขา]
๑๐. สัมมาทิฏฐิ [ความเห็นชอบ]
อกุศลกรรม 10
อกุศลกรรมบถ กรรมชั่ว 10 อย่าง
1. ปาณาติบาต [การยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป]
2. อทินนาทาน [การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้]
3. กาเมสุมิจฉาจาร [การประพฤติผิดในกาม]
4. มุสาวาท [พูดเท็จ]
5. ปิสุณาวาจา [พูดส่อเสียด]
6. ผรุสวาจา [พูดคำหยาบ]
7. สัมผัปปลาป [พูดเพ้อเจ้อ]
8. อภิชฌา [ความโลภอยากได้ของเขา]
9. พยาบาท [ความปองร้ายเขา]
10. มิจฉาทิฏฐิ [ความเห็นผิด]